เซียนจริง ซินเจียง EP.2: ทะเลทรายแห่งซินเจียง

หลังจากที่ผมมาถึงอูรุมชีในบ่ายเมื่อวาน และได้ไปเดินเล่นที่ตลาดของชาวอุยกูร์ในบริเวณมัสยิด Erdao (เซียนจริง ซินเจียง Amazing Xinjiang EP.1) อย่างเป็นที่อิ่มหนำสำราญอย่างที่สุดแล้ว วันนี้ 1 เมษายน 2560 ในตอนเช้าครอบครัวของอาฎิล (adilsiripatana.com) ก็เดินทางมาถึงอูรุมชี

20170401 _DSC2148-HDR
วิวจากห้องพัก
20170401 _DSC2158
ซ้ายมือคือหออะซานของมัสยิด Erdao

โปรแกรมของวันนี้ก็คือ เราเดินทางจากอูรุมชีลงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านพื้นที่ที่ภูมิประเทศที่เป็นที่ราบกว้างระหว่างเทือกเขาสองเทือก มีความแห้งแล้ง เป็นทะเลทราย

ระหว่างทาง ในบริเวณที่ราบกว้างนี้จะมี Wind Turbine อยู่เต็มไปหมด ไกด์ของเราบอกว่าที่นี่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ผมถามว่ามี wind turbine อยู่กี่เสา เขาก็บอกไม่ได้ เพราะเขาลงเสาเพิ่มเรื่อยๆ

20170401 _DSC2161
ด้วยทัศนวิสัยทำให้เรามองเทือกเขาไม่เห็นเลย

dav

20170401 _DSC2164

หลังจากเรานั่งรถผ่านที่ราบอันเวิ้งว้างนี้ไปพักนึง เราก็จะต้องผ่านเส้นทางระหว่างช่องแคบระหว่างภูเขาเพื่อไปยังเมือง Turpan ที่อยู่ทางตอนล่างของเทือกเขา Tianshan ที่ Dabancheng

เนื่องจากที่มันเป็นครั้งแรกที่เราออกมานอกเมือง สิ่งใหม่ที่เราได้พบเจอก็คือ “ด่านตรวจ”

และตลอดทั้งทริป 9-10 วันเราเสียเวลาและพลังงานกับด่านตรวจเยอะมากกกก ด่านตรวจเป็นสิ่งที่ทางการจีนสร้างขึ้นมาเพื่อกดขี่คนในพื้นที่โดยเฉพาะ

เมื่อเราเดินทางไปถึงด่านตรวจ รถก็ต้องจอดเพื่อให้ตำรวจสังเกตุการณ์ (แค่ดูเฉยๆ ในรถ ท้ายรถ ไม่ถึงกับตรวจค้น) ผู้โดยสารทุกคนก็ต้องลงรถไปเพื่อเดินผ่านการตรวจค้นร่างกายด้วยเครื่องตรวจจับโลหะ และสำหรับคนในพื้นที่ ก็ต้องชักบัตรประจำตัวของตัวเองออกมาสแกนกับเครื่อง ถ้าข้อมูลตรงกับการสแกนใบหน้าก็ผ่าน ตรงนี้เป็นการเก็บข้อมูลการเข้าออกพื้นที่ของประชาชน ส่วนนักท่องเที่ยวอย่างเราก็เอาพาสปอร์ตให้ตำรวจดู ซึ่งเกือบทุกครั้งเราจะต้องลงรถเข้าไปในป้อม เพื่อให้เจ้าหน้าที่จดบันทึกชื่อเสียงเรียงนามของเรา ว่านายนี่นายนั่นผ่านด่านเวลานี้ๆนะ บางครั้ง(น้อยมาก)ที่ตำรวจให้ผ่านไปได้เลย บางครั้งก็เจอตำรวจหน้าตาโคตรโรคจิต บางครั้งก็เจอคนที่หน้าตาไร้ความรู้สึก(แต่ท่าทางเอาเรื่องมาก)เหมือนเป็นนักฆ่าที่ไม่มีจิตใจ พร้อมที่จะบังคับใช้กฎหมายกับเราตลอดเวลา!

ความพีคแรกของมันคือ เจ้าหน้าที่บางคนก็แย่ เห็นอิณฌาน้อยหลับอยู่มันก็ไม่ยอมให้แม่ลูกเขารอในรถ ก็ยังให้แบกเด็กน้อยฝ่าความหนาวเดินไปในป้อม (ในบางวัน)

ความพีคที่สองคือ ผู้หญิงชาวอุยกูร์ ที่ปกติก็สวมฮิญาบแบบคลุมแต่ผม เปิดคอ ใช้ผ้าบางๆเห็นเส้นผมอยู่แล้ว มาถึงด่านบางคนก็ดึงผ้าคลุมออกไปเลย พอเดินผ่านการตรวจทั้งหมด เดินออกจากอาคาร เขาก็ดึงผ้าคลุมกลับมาคลุมใหม่เหมือนเดิม

ในแต่ละครั้งไกด์ของเราก็จะต้องอธิบายกับเจ้าหน้าที่ว่า เรามาจากไหน จะไปไหน (เดาเอา) และเจ้าพวกนี้มาจากไหน อันนี้รู้ได้จากคำตอบว่า “ไท่กั่ว” ที่บางที่ เช่น คัชการ์ อูรุมชี การตรวจก็จะเข้มงวด บางที่เช่นในชนบทของยินนิงก็หละหลวมกว่าเล็กน้อย แต่ที่บันเทิงที่สุดคือ ด่านที่ออกจากยินนิงในวันที่ 4-5 ของทริป (เล่ามันเสียตรงนี้เลยแล้วกัน) เนื่องจากมันไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นี่ และพยายามออกนอกเมืองสักเท่าไหร่ การปรากฎตัวของพวกเราจังเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดอย่างยิ่งสำหรับเขา

ตอนแรกไกด์ของเราให้เรารอในรถ ถือพาสปอร์ตของพวกเราไปในป้อมตำรวจ สักพักเขาก็เดินมาเรียกเราทั้งหมดเข้าไป ข้างในนั้นมีตำรวจอยู่ 6-7 คน หน้าตาจีนๆบ้างอุยกูร์บ้าง ก็จ้องมองสำรวจพวกเรายังกับคนมาเที่ยวสวนสัตว์ และพึ่งเห็นสัตว์ชนิดนี้เป็นครั้งแรก!

มีลุงคนนึง เป็นชาวจีน ดูแล้วน่าจะเป็นคนใหญ่สุดของที่นี่ เอาพาสปอร์ตของเราไปดูสลับไปสลับมาระหว่างรูปในพาสปอร์ตกับหน้าเรา หน้าตาพิจารณาอะไรบางอย่างอยู่ แต่ก็ยังพูดหยอกล้อกับเพื่อนร่วมงาน สักพักมีการเอาน้ำร้อนมาเสิร์ฟ แต่บ่องตงมันไม่ทำให้บรรยากาศมาคุลดลงเลย เราลุ้นกันอย่างใจจดใจจ่อว่าจะได้ผ่านออกไปที่หมายของเรามั้ย ยังดีหน่อยที่มีอิณฌาคอยสร้างความสนใจและความชื่นมื่นให้ เรียกได้ว่า Baby, connecting people จริงๆ

ในครั้งนั้นเรานั่งรอคนๆนึงที่มีอำนาจอีกคนมาดูพวกเรา เขามาจากที่อื่นที่ต้องเดินทาง 30 กม.มา คือแม่งเล่นใหญ่มากกกกกก พออีตาคนนั้นมา มันก็ดูเราอยู่แป้บนึง ทำหน้าเข้ม แล้วก็ให้เราผ่านไป เรากล่าว “(ไอ้)เชี่ย (ไอ้)เชี่ย” แล้วก็เดินออกมา

แต่จริงๆแล้วการผ่านด่านมันน่าจะใข้เวลาเร็วขึ้นหน่อยถ้าเราไม่มีผู้หญิงสวมฮิญาบแบบเต็มรูปแบบอยู่ แต่พาสปอร์ตจากประเทศมุสลิม (ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย มาเลย์เซีย เป็นต้น) จะถูกเพ่งเล็งมากกว่าพาสปอร์ตไทย ความเป็นพี่น้อง(แบบหลอกๆ เขาหลอกเรา)ระหว่างไทยกับจีนก็ช่วยให้เรายัง low profile ได้พอสมควร ถ้าใครจะมาเที่ยว ถ้าคลุมหัวก็อาจจะต้องทำใจรับความลำบากที่เพิ่มขึ้นมากนิดนึง คุณอาจจะถูกขอให้ถอดผ้าคลุม ซึ่งจริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องถอด เขาบังคับคนต่างชาติอย่างเราไม่ได้ ให้ปฏิเสธ และให้ไกด์ช่วยคุย

ถ้าคุณไม่ได้มีอัตลักษณ์มุสลิมชัดเจน (เป็นผู้ชาย ไม่ได้ไว้หนวดเครายาวเฟื้อย หรือไม่คลุมผม) เขาก็จะไม่สังเกตุอะไรเป็นพิเศษ

ในซินเจียง การคลุมฮิญาบแบบเต็มเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งผู้หญิงอุยกูร์จะถูกจับถ้าทำอย่างนั้น ครั้งแรกอาจจะเตือน ครั้งต่อไปจะมีการลงโทษ ส่วนฟาเต็นนั้นนับว่าเป็นชาวต่างชาติ กฎนั้นไม่ครอบคลุมถึงเธอ ..แต่ก็มีเจ้าหน้าที่พยายามล้ำเส้นเสมอ โดยบอกว่าเธอคลุมหัวแบบนี้ไม่ได้นะ แต่เราก็เถียงและเขาก็เงียบ


หลังจากผ่านด่านตรวจไปได้เราก็เดินทางกันต่อ เราเริ่มเข้าใกล้เทือกเขาด้านหน้าแล้ว เราจะเดินทางผ่านเส้นทางที่ตัดผ่านช่องเขาจากด้านเหนือไปยังด้านใต้ ด้านเหนือว่าแห้งแล้ง ด้านใต้จะแห้งแล้งกว่าอีก ข้อนี้ทำให้เกิดภูมิอากาศ/ภูมิประเทศอย่างที่เรากำลังจะไปในวันนี้

20170401 _DSC2167

20170401 _DSC2170
เราแวะถ่ายรูปตรงจุดนี้ ที่อยู่ระหว่างเส้นทางในช่องเขา

20170401 _DSC2168

20170401 2017-04-01 13.02.13

ประมาณช่องกลางของเส้นทางในช่องเขา มีจุดพักรถอยู่ ตรงนั้นมีห้องน้ำ ปั้มน้ำมัน ร้านค้าไว้บริการ

สิ่งที่แปลกคือ ตอนจะเข้าห้องน้ำ มีการติดตั้งเครื่องสแกนโลหะ มี รปภ.รอตรวจเช็คสิ่งที่เราถือเข้าห้องน้ำไปด้วย ..คือ มึงจะตรวจทำไมเหรอ คนจะไปขี้ไปเยี่ยวเนี่ย!

อีกอย่างที่พบเห็นอย่างทั่วไปในซินเจียง คือ ที่ทางเข้าปั้มน้ำมันทุกๆที่ จะมีการสร้างแผงกั้นรถเอาไว้ พร้อมมี รปภ.คอยตรวจรถ ไล่คนลงไปรอข้างนอก รถที่เข้าไปเติมน้ำมันต้องมีแค่คนขับคนเดียว

รปภ.พวกนี้มีอำนาจทางกฎหมาย ซึ่งเป็นอำนาจที่พวกตำรวจนั่นแหละมอบให้ พวกนี้จะแต่งตัวคล้ายทหารตำรวจเลยล่ะ มีปลอกแขนสีแดงใส่ไว้ (และมีคนเยอะมากใส่สิ่งนี้) นี่คือการแบ่งปันอำนาจในการกดขี่คนในพื้นที่ให้กับชาวบ้านทั่วไป(พวกนี้มันก็อุยกูร์นั่นแหละ แต่โดนทางการล้างสมอง) ให้มันเป็นคนของทางการ และคนพวกนี้ก็มีความภูมิใจในตัวเองมาก เย่อหยิ่ง มีความพร้อมและกระตือรือร้นที่จะใช้อำนาจของตัวเอง เป็นเบี้ยของทางการอย่างแท้จริง!


เราออกเดินทางต่อไปจนผ่านช่องเขาไปได้ จากฝั่งที่แล้ว เราจะเห็นต้นไม้อยู่บ้างตามข้างทาง ในผั่งใต้นี้ ผมไม่เห็นต้นไม้เลย เห็นก็แต่กังหันลมผลิตไฟฟ้าเต็มไปหมด

ไกด์บอกว่า ที่นี่มีลมพัดแรงมากๆ เหมาะกับการผลิตไฟฟ้ามาก ในบางครั้งถนนเส้นที่เราเดินทางอยู่ก็ถูกปิด เพราะว่าลมแรงเกินไป บางครั้งก็มีพายุทรายรุนแรงจนรถวิ่งไม่ได้

เดินทางไปพักหนึ่ง เราก็เริ่มเห็นเมืองอยู่ไกลๆ มันคือเมือง Turpan เมืองที่อยู่ท่ามกลางทะเลทราย

เมืองๆนี้ไม่มีอะไรนอกจากจะเป็นสถานที่อยู่อาศัยของพวกคนงานโรงไฟฟ้า ในเมืองมีถนนที่กว้างมากๆ มีช่วงหนึ่งที่เราเห็นผู้คนและอาคารสถานที่ แต่ก็เพียงแป้บเดียวเราก็หลุดออกมาจากเมืองนี้แล้ว

หลังออกจาก Turpan ผมสังเกตได้ว่าไกด์ของเราขับรถช้ามาก คงประมาณ 50-60 กม./ชม.เองล่ะมั้ง เขาเล่าว่า ในซินเจียงมีการบังคับใช้กฎหมายควบคุมความเร็วอย่างจริงจัง และมีความหลากหลายมาก ตลอดเวลาที่เดินทาง ก็จะมีเสาและราวเหล็กพาดคร่อมถนนไว้ บนนั้นมีกล้องวงจรปิดอยู่จำนวนมากเท่ากับจำนวนเลนถนน เมื่อเราเข้าไปใกล้ก็จะมีแสงแลบเขาตาเราทีนึง ใช่แล้ว แสงแฟลช เขาถ่ายรูปเอาไว้แล้ว กล้องนี้ไม่รู้ว่าถ่ายอะไรบ้าง ป้ายทะเบียน? สัณฐานรถ? หน้าตาคนขับ?

ที่นี่เขาไม่ได้ใช้เครื่องวัดความเร็วแบบบ้านเรา เขาใช้วิธีการถ่ายรูปรถไว้ที่จุดนึง แล้วก็ถ่ายอีกในระหว่างทาง ถ้ารถใช้ความเร็วต่ำกว่า speed limit เราก็จะมาถึงจุดต่อไปในอีก 5 นาที เป็นต้น ถ้าเราขับเกิน limit เราก็จะไปถึงเร็วกว่านั้น ในกรณีนี้ก็รอใบสั่งส่งไปที่บ้านได้เลย

ในบางที่ จะมีการกำหนดเลยว่าคุณต้องขับมาถึงโดยใช้เวลาเท่านั้นเท่านี้นะ บางครั้ง limit ต่ำมากๆ มันต่ำจนทำให้เราต้องใช้เวลาทั้งวันในการเดินทางแค่ 200 กม. เช้ายันค่ำ ถ้าอยู่ไทยสองชั่วโมงนิดๆก็ถึงแล้ว!!

นี่คือรูปแบบหนึ่งของการควบคุมคน เขาสามารถรู้ได้ว่าเราอยู่ ณ จุดๆไหนในตอนนี้ โอเค มันก็อ้างว่าเป็นเรื่องของความปลอดภัยได้ ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนนำเสนอที่นี่อย่างสุดชีวิต ถ้ารถคันนึงผ่านจุดแรกในเวลานี้ ก็ควรจะไปถึงจุดที่สองในเวลานี้ ถ้ารถคันนั้นหายไปนาน หรือเกิดอุบัติเหตุ เขาก็รู้ได้ทันทีว่าเขาจะต้องไปตามหารถคันนี้ที่ไหน

อีกมุมนึง ความเป็นส่วนตัวของเราล่ะ ไม่ต้องมีแล้วเหรอ รัฐต้องการสู่รู้การใช้ชีวิตของเราในทุกๆขณะเหรอ จะไปไหนไปหาใคร นานเท่าไหร่ รัฐรู้ตลอดเลย

นี่มันคุกชัดๆ


ตอนนี้เราเริ่มเข้าใกล้เทือกเขาอีกครั้ง ภูเขาแถวนี้เห็นได้ชัดว่ามีสีแดงกว่าปกติ ไกด์บอกว่า ที่นี่แหละ Flaming Mountains สถานที่ที่ปรากฎในตำนานไซอิ๋ว ภูเขาที่ร้อนระอุ จนเห้งเจียต้องไปหาพัดเหล็กมาพัดให้ความร้อนลดลง ให้ขบวนของพระถัมซัมจั๋งเดินทางผ่านไปได้ แต่อนิจจา พัดลมใส่ไฟ ไฟมันยิ่งแรงจ้า

เพราะมันอยู่ในไซอิ๋ว มันจึงเป็นสถานที่ที่คนจีนมาเที่ยวเยอะมาก ส่วนเราเห็นว่ามันเฉยๆ ถ่ายรูปไม่ค่อยสวย แดงก็ไม่ค่อยแดง ก็เลยไม่ได้แวะ เดินทางผ่านไปที่หมายของเราดีกว่า ผมเอารูปจากกูเกิ้ลมาแปะให้ดูแล้วกันครับ เผื่อใครสนใจ

Capture2

หลังจากเดินทางแบบเต่าๆมาสักพัก เราก็ผ่านด่านตรวจอีกด่าน เป็นด่านที่สามของวันนี้แล้วมั้ง เราเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางที่เล็กลง บ่งบอกว่าเรากำลังเข้าใกล้จุดหมายของเราแล้ว

ทางที่เราเลี้ยวมานี้ เป็นทางเข้าไปในหมู่บ้านๆนึง เป็นชนบทที่มีเสน่ห์มากๆ มีบ้านเก่าๆหลังเล็กหลังน้อย มีโรงเรียนประถมน่ารัก ที่มีภาพวาดเด็กน้อยชาวอุยกูร์บนฝาผนัง มีชาวอุยกูร์ชายหญิงทำนู่นนี่นั่นหน้าบ้านตัวเอง ตรงสี่แยกก็มีรถวิ่งขวักไขว่พอสมควร มีป่อจิ้(ลุงๆ)อุยกูร์แต่งชุดสูท ไว้เคราหงอกยาวๆมานั่งสนทนากันตามรายทาง

หลังพ้นเขตหมู่บ้านแล้ว รถของเราเริ่มไต่ระดับขึ้นภูเขา สองข้างทางมีหญ้าแห้งๆสีเหลืองสวยงาม เราแอบเห็น apricot ต้นหนึ่งเลยรีบเรียกไกด์ให้จอดเพื่อลงถ่ายรูป (ต้นเดียวก็เอา เผื่อวันหลังไม่เจอ)


เราเดินทางต่อลึกเข้าไปในช่องเขา ยิ่งเข้าไปลึกเท่าไหร่ ภูเขาก็ยิ่งแดงขึ้น นี่สินะ Flaming Mountains ช่างสีแดง ร้อนแรงสมกับไฟจริงๆ ในตอนเย็นๆถ้ามีแสงแดดอ่อนๆส่องถึง มันน่าจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสวยงาม

20170401 _DSC2247

20170401 _DSC2242

hdr

ดูไปดูมา นี่มันหลานๆแกรนด์แคย่อนเลยนะ

20170401 _DSC2253

20170401 _DSC2256

20170401 _DSC2257

ไกด์บอกว่า คนจีนชอบมาเที่ยวที่นี่เพราะเขาตามมาจากตำนานไซอิ๋ว วันหยุดจะมีคนมาที่นี่เยอะมาก

ผมฟังแล้วแบบ.. เอ่อ มันก็ไม่ได้สวยอะไรมาก มึงอินกับไซอิ๋วมากเลยเหรอ ศาสนามึงก็ไม่นับถือ จะมาเห่ออะไรกับพระเดินทางไปชมพูทวีปเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกเนี่ย

20170401 _DSC2258

20170401 _DSC2268

20170401 _DSC2283


หลังจากชมความสวยงามแปลกตาของ Flaming Mountains เราก็เดินทางต่อไป อีกประมาณ 15-20 นาที เราก็เห็นหมู่บ้านสีดินอยู่ไกลๆ คราวนี้เรามาถึงจุดหมายของเราแล้วล่ะ..

นี่คือ หมู่บ้านโบราณกลางทะเลทรายแห่งซินเจียง Tuyoq Village

20170401 _DSC2300

จากมุมสูงเราเห็นบ้านเรือนสีดินสลับกับต้นไม้สีเขียวๆ เสียดายนะที่เรามาถึงช้าไป ต้น apricot ออกดอกจนผลิใบออกมาเรียบร้อยแล้ว ไม่งั้นเราจะได้สีเขียวเป็นสีชมพู สลับกับมัสยิดสีเขียวตรงกลางหมู่บ้านแทน

20170401 _DSC2306

20170401 _DSC2312

เราเข้ามาถึงในหมู่บ้าน เรานำรถเข้าไปจอดในที่จอดรถ ผมลงจากรถไปจ่ายค่าเข้าชมหมู่บ้าน หมู่บ้านนี้เป็นที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ชื่อดัง จึงมีค่าเข้าชมคนละ 30 หยวน ส่วนนี้เป็นสิ่งที่ทางการสร้างขึ้นเพื่อหารายได้จากชุมชนนี้

ที่นี่เป็นหมู่บ้านของชาวอุยกูร์ มีแต่ชาวอุยกูร์อาศัยอยู่ 100% มานมนานกาเลแล้ว มีจำนวนร้อยกว่าครัวเรือน เราเข้าไปชมบ้านหลังนึงที่ไกด์รู้จัก เป็นบ้านที่มีรั้วรอบขอบชิดแบบจีน สร้างด้วยอิฐดิน และฉาบด้วยดิน

20170401 _DSC2318

ด้านในบ้านทำหลังคาด้วยการนำไม้มาพาดแล้วมุงด้วยหญ้าแห้ง ตามไม้ที่พาดในบ้านก็มีเถาองุ่นขึ้นด้วย ถึงฤดูออกผลก็น่าจะเด็ดกินได้อย่างง่ายเลย

ตรงกลางของบ้านหลังนี้น่าสนใจมาก มีโต๊ะทานน้ำชาอยู่ ปูโต๊ะด้วยผ้าสีแดง สีสันสลับกับกาน้ำสีทองสวยงาม

20170401 _DSC2335
บ้านรูปร่างแปลกๆนี้หาชมได้ทั่วไปในแถบ Turpan มันคือโรงตากแห้งองุ่น คือทำลูกเกดนั่นเอง สภาพอากาศที่แห้งและร้อนของที่นี่เหมาะกับการตากลูกเกดมาก

20170401 _DSC2336

20170401 _DSC2339
รถมอไซต์แบบนี้มีอยู่อย่างทั่วไปในซินเจียง เป็นรถไฟฟ้า เสียงเงียบเชียบมาก ส่วนมอไซต์ธรรมดาเติมน้ำมันนั้นถูกสั่งเป็นรถที่ผิดกฎหมาย ห้ามขับ และห้ามนำไปเติมน้ำมันในปั้มด้วย

20170401 _DSC2340

20170401 _DSC2367

20170401 _DSC2368
ภาพแผงกั้นด้านหน้ามัสยิดเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างทั่วไปเช่นกัน มัสยิดนี้เปิดให้เข้าได้เฉพาะตอนเวลาละหมาดเท่านั้น คัมภีร์อัลกุรอ่านก็ถูกเก็บ นี่ก็เป็นหนทางหนึ่งที่เจอจำกัดการเติบโตของมุสลิม กดขี่มุสลิม จำกัดไม่ให้คนมีความรู้เกี่ยวกับอิสลาม ให้เหลือไว้แค่อัตลักษณ์ที่แตกต่างเท่านั้น

20170401 _DSC2369

20170401 _DSC2374
จยย.เก่าฝุ่นเขรอะ เข้ากับบรรยากาศหมู่บ้านจริงๆ

หมู่บ้าน Tuyoq นี้นอกจากจะเป็นที่รู้จักในด้านของตึกรามบ้านช่องที่ยังดั้งเดิมสวยงามแล้ว ก็ยังมีวัดถ้ำที่สร้างขึ้นสมัยที่แถบนี้ยังนับถือศาสนาพุทธอยู่ด้วย วัดถ้ำเหล่านี้มีอยู่หลายแห่ง แต่จะอยู่นอกหมู่บ้านออกไป ไกด์ของเราจอดรถและชี้ให้ดูจากไกลๆ ก็เห็นเป็นประตูเล็กๆเข้าไปในภูเขา ในขณะนี้วัดทั้งหมดเป็นเขตหวงห้าม แต่ตอนนี้ทางการจีนมีโครงการจะเปิดวัดเหล่านี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว หลังจากนี้หมู่บ้านนี้จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก สิ่งที่น่าสนใจคือชาวบ้านจะอดทนต่อกระแสวัตถุนิยมที่จะถาโถมเข้ามาได้หรือไม่

20170401 _DSC2380
นักท่องเที่ยวชาวจีน

20170401 _DSC2379

20170401 _DSC2385

20170401 _DSC2388
ภาพมัสยิดสีเขียวกลางหุบเขาแห้งแล้ง เป็นภาพเอกลักษณ์ของที่นี่

ชาวอุยกูร์ที่นี่ อยู่กันอย่างเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก อาชีพหนึ่งที่ค่อนข้างแพร่หลายในบริเวณนี้คือการทำลูกเกดขาย กระบวนการนั้นก็ไม่ง่าย เขาจะรับซื้อองุ่นมา (สันนิษฐานว่ารับซื้อเพราะผมไม่เห็นไร่องุ่นแถวนี้ แต่เห็นที่ Turpan) แล้วก็เอาไปตากแห้งในบ้านอิฐที่สร้างฝาผนังไว้เป็นรูๆ ความร้อนและแห้งของอากาศจะทำให้องุ่นเหี่ยว และก็บรู้มมมมม กลายเป็นลูกเกด

20170401 _DSC2383

20170401 _DSC2412

เมื่อขึ้นไปยังที่สูงของหมู่บ้าน เราก็จะเห็นวิวหมู่บ้านกับภูเขา โดมสีเขียวเห็นอยู่ไกลๆผมไม่แน่ใจว่าเป็นป้อมปราการหรือว่าสุสาน อันนี้ต้องกลับไปถามเพื่อนอีกที

20170401 _DSC2391

20170401 _DSC2389

20170401 _DSC2393

ก่อนจะลงเขากลับไปด้านล่าง ผมได้เจอกับกลุ่มเด็กในหมู่บ้านด้วย เด็กๆเห็นกล้องถ่ายรูปที่คล้องคออยู่ก็เรียกให้ผมถ่ายรูปให้ ทุกคนนับว่ามีเชื้อสายอุยกูร์หมด แต่หน้าตาเขาก็ต่างกันพอสมควรเลยนะ

20170401 _DSC2404

หลังเดินสำรวจหมู่บ้านเสร็จ เราก็กลับไปค้างคืนที่อูรุมชี โดยใช้เส้นทางเดิมกลับไป ระหว่างที่เราแวะทานมื้อเที่ยง (ตอนหกโมงเย็น) ที่หมู่บ้านที่เราจอดถ่ายรูป Apricot อาหารมื้อนี้เป็นก๋วยเตี๋ยวราดเนื้อผัดใส่ผัก เป็นอาหารที่คนซินเจียงกินกันทั่วไป รสชาติดี มีความคล้ายอาหารไทยอยู่ ไว้ผมจะเขียนเกี่ยวกับอาหารในทริปนี้แยกทีหลังเพราะผมถ่ายรูปอาหารมาเกือบทุกมื้อ

เราไปถึงอูรุมชีในตอนค่ำแล้ว ผมและอาฎิลเข้าที่พักเพื่อพักผ่อนเตรียมตัวเดินทางด้วยเครื่องบินในวันรุ่งขึ้น ผมพึ่งจะได้เจอกับฟาเต็นและอิณฌาตอนนี้แหละ อิณฌายังไม่คุ้นกับผมก็แกล้งทำเป็นเขินอยู่ แต่หลังจากนี้เรามีความสัมพันธ์กันดีมาก (ดีเกินไปรึเปล่า 55)

แล้วไว้เจอกันในตอนหน้า ที่ไหน ..ไม่บอก

Author: Pakpoom

Life explorer in Dunya.

2 thoughts on “เซียนจริง ซินเจียง EP.2: ทะเลทรายแห่งซินเจียง”

Leave a reply to faremkhan Cancel reply